ประวัติ บ้านหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์

บ้านหลุยส์ เป็นชื่อเรียกขานที่เจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบนใช้เรียก เรือนไม้โบราณกึ่งปูนทรงปั้นหยาสองชั้น มีกลิ่นอายโคโลเนียล ด้านหน้ามีมุขแปดเหลี่ยม (ยื่นออกมาหกด้าน) ตีเกล็ดไม้ระบายอากาศโปร่งพร้อมบานหน้าต่างมองเห็นได้โดยรอบ ตัวเรือนด้านล่างก่อด้วยปูน ซุ้มประตูโค้งแบบฝรั่งพร้อมช่องระบายอากาศไม้แกะสลักที่ละเอียดสวยงาม


เห็นปราดแรกก็ทราบทันทีว่าเรือนไม้หลังนี้ไม่ใช่บ้านเรือนของราษฎรท้องถิ่นทั่วไป น่าจะมีอายุร่วม 114 ปี ที่แน่นอนที่สุดก็คือมันต้องมีอายุเกิน 76 ปีเพราะเมื่อพ.ศ.2482 ตอนที่กรมป่าไม้รับมอบโอนกิจการทำไม้ของบริษัทบอร์เนียว จำกัด และบริษัทหลุยส์ ตี เลียว โนเวนส์ บริเวณชุมชนท่ามะโอ ริมแม่น้ำวังมาเป็นสมบัติของรัฐนั้น เรือนหลังนี้ก็มีอยู่เดิมแล้ว ประวัติการทำไม้ของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ได้เดินทางมาไม้อยู่ลำปางราวๆ ปี 2445 หากว่าได้เริ่มก่อสร้างอาคารที่พักในช่วงหลังจากนั้นเล็กน้อย ไม่แน่ว่าเรือนหลังนี้อาจจะมีอายุเกิน 100 ปีด้วยซ้ำไป


หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นลูกของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ อดีตครูผู้สอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก หลุยส์ ได้อาศัยความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับราชสำนักสยามที่ได้วิ่งเล่นและมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จนได้มีตำแหน่ง มีเครือข่ายสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจสยาม และต่อมาเขาก็อาศัย “เส้นใหญ่” ที่สามารถเจรจาเข้าถึงราชสำนักได้นี่เองจนได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนทำไม้ให้กับบริษัทบริติช บอร์เนียว อยู่ที่เมืองระแหง (ตาก) เมื่อพ.ศ.2427 ขณะมีอายุได้ 29 ปี และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ฝรั่งทำไม้ในตำนานการป่าไม้ไทยอีกคนหนึ่ง จากเมืองตาก ไปอยู่เชียงใหม่ ลำปางแล้วก็มีแปลงสัมปทานทำไม้ของตนเอง ต่อมาหลุยส์ประกอบธุรกิจ ทำกิจการหลายอย่าง โดยได้ก่อตั้งบริษัท หลุยส์ ตี เลียวโนเวนส์ จำกัด นำเข้าเครื่องอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ซึ่งถือเป็นสินค้าหายากที่ต้องนำมาจากต่างประเทศเป็นสำคัญ บริษัทดังกล่าวต่อมาเปลี่ยนเจ้าของหลายครั้งแต่ก็ยังยืนยงคงกระพันข้ามยุคสมัย เป็นบริษัทฝรั่งไม่กี่บริษัทในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีอายุยืนยาวมาถึงปัจจุบัน


ประวัติของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ หาได้ไม่ยาก ถึงขนาดมีผู้รวบรวมเขียนเป็นหนังสือเล่ม ชีวิตของเขาสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเมื่อ 100 ปีก่อนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคอาณานิคม หลุยส์ทำไม้ และทำการค้า ประวัติชีวิตของเขาจึงช่วยทำให้คนยุคหลังมองเห็นรายละเอียดของเศรษฐกิจยุคฝรั่งอาณานิคมอยู่พอสมควร ว่าที่แท้แล้วสัมปทานผูกขาดทำไม้น่ะ หากระบบการจัดการไม่พร้อมจริงๆ ก็เจ๊งได้ และที่สำคัญฝรั่งด้วยกันเองก็มั่วๆ โกงๆ กันเองไม่แพ้ชาติอื่น บริษัทฝรั่งที่เข้ามาทำสัมปทานบางบริษัทไม่ได้ลงทุนอะไรเอง จึงใช้ลูกช่วงหรือนายหน้าที่มีเครือข่ายเส้นสายในท้องถิ่นดำเนินการแทน หรือไม่ก็จ้างผู้จัดการที่มีความชำนาญในท้องถิ่น แล้วก็แบ่งกำไรกัน และนั่นก็เป็นโอกาสและช่องทางของฝรั่งมีเส้นแบบนายหลุยส์


บทความนี้จะไม่เน้นชีวประวัติของนายหลุยส์ อยากจะมุ่งไปที่ตัวบ้านเก่าแก่ที่ถูกทอดทิ้งอย่างน่าเสียดายโอกาส แล้วก็เรื่องราวของดีๆ เมืองลำปาง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพูดเรื่องบ้านนายหลุยส์โดยไม่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเจ้าของบ้านก็ไม่ได้ ชีวิตของนายหลุยส์เป็นอะไรที่มีสีสันและยังสะท้อนสภาพของบ้านเมืองสยามภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคอาณานิคมระหว่างช่วงรัชกาลที่ 5-6 ฝรั่งทำไม้ที่ขึ้นไปอยู่หัวเมืองเหนือแบบนายหลุยส์ก็คือพระราชาน้อยๆ นั่นแล เพราะเวลานั้นฝรั่งได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นชนชั้นบนที่เชื่อมใกล้ชิดกับแวดวงอำนาจในพื้นที่ล้านนา และราชสำนักสยาม


น่าเสียดายที่ปัจจุบันยังเหลือแค่บ้านพักของหลุยส์ที่ลำปาง ส่วนบ้านพัก(คฤหาสน์ไม้) ของฝรั่งทำไม้ที่เชียงใหม่ไม่เหลืออยู่แล้ว น่าเสียดายเพราะมันมีตำนานที่ลึกซึ้งมาก...บ้านพักของพ่อเลี้ยงฝรั่งทำไม้ชื่อว่าพ่อเลี้ยงชีค (มาเรียน เอ ชีค) สหายที่หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เข้าไปร่วมพำนักบริเวณหลังวัดมหาวัน กลางเวียงเชียงใหม่ในยุคสมัยของเขาเปรียบได้กับฮาเร็มดีๆ ที่เอง มีเด็กสาวพื้นเมืองจำนวนมากที่ถูกขายให้/ซื้อตัว/ หรือแม้แต่เสนอตัวเข้าไปบำเรอพ่อเลี้ยงป่าไม้ฝรั่งทั้งคู่ หัวหกก้นขวิดกันอยู่ที่นั่นจนเป็นที่เลื่องลือ ชาวเชียงใหม่หยิบมาขับเป็นจ๊อยซอเพลงพื้นเมือง(ขบกัดฝรั่งบ้างไรบ้าง)กันให้สนุก ก่อนอ่านขอให้เข้าใจว่า ลิ้นของคนพื้นเมืองเรียกหมอชีค ว่า หมอชิต ส่วนมิสเตอร์หลุยส์ คนล้านนาออกเสียงว่า มิสสะหลวย


ป้อเลี้ยงหมอชิตกับมิสสะหลวย เอาสาวนอนตวยสองคืนสิบห้า อีหลวยนอนเตียงอีออนนั่งท่า ขะใจ๋โวยๆ ป้อเลี้ยง.... ป้อเลี้ยงหมอชิตกับมิสสะหลวย เอาสาวนอนตวยสองคืนสิบห้า อี่คำขอเงิน อี่หวนขอผ้า อี่โนจาขอจ๊าง ขะใจ๋โวยๆ ป้อเลี้ยง....

(สำหรับคนภาคอื่นที่ไม่ใช่ชาวเหนือ นอนตวย คือ นอนด้วย/ นั่งถ้า คือ นั่งเฝ้าคอย / ขะใจ๋ แปลว่า เร็วๆ หน่อยสิ)

หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ น่ะ เป็นฝรั่งที่แสบไม่น้อยเลย ลองไปหาอ่านประวัติโดยละเอียดดูหนังสือ ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา หรืออีกเล่ม นายห้างป่าไม้ สีสันชีวิตอดีตล้านนา ของ กิตติชัย วัฒนานิกร สองเล่มนี้ให้รายละเอียดได้ดีพอสมควรและน่าอ่านทีเดียว


ย้อนกลับมาถึงบ้านนายหลุยส์ที่ลำปางกันต่อ ….หลุยส์กับหมอชีคเป็นฝรั่งทำไม้เมืองลำปางยุคแรกๆ เป็นทั้งตัวแทนให้กับบริษัทใหญ่อย่างบริติช บอร์เนียวและ บอมเบย์ เบอร์ม่า และทั้งขอสัมปทานในนามตัวเอง มันจึงมีชื่อของบริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นผู้รับสัมปทานไม้ในยุคหลัง และกิจการของบริษัททำไม้ดังกล่าวได้ถูกขายต่อ/โอนทรัพย์สินให้กับทางราชการสยาม เมื่อพ.ศ.2482 บ้านพักของนายหลุยส์ กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้อยู่ยาวนาน อ.อ.ป.เองก็พยายามดูแลรักษาเท่าที่พอทำได้ มีป้ายนิทรรศการเล็กๆ ให้ที่มาที่ไป แต่ก็นั่นแหละ มาถึงพ.ศ.นี้ก็เกือบ 80 ปีแล้ว มันก็ทรุดโทรม ผุพังกันไปอย่างภาพที่เห็น ซึ่งมันน่าเสียดายมาก !


ที่จริงแล้วอาคารเก่าแก่หรือสถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลักษณะนี้ที่ถูกละทิ้งไปแล้วค่อยทุ่มเทงบประมาณให้ความสนใจปรับปรุงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชื่อก็มี อย่างเช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่แม่ริม เชียงใหม่ เมื่อก่อนตอนที่ตชด.เข้าไปใช้สถานที่เป็นที่ทำงานมันทรุดโทรมมาก แต่เมื่อมีการทุ่มเทงบประมาณและเป้าหมายเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยว สถานที่นั้นก็พลิกโฉมขึ้นมาทันที บ้านหลุยส์ – เฮือนป้อเลี้ยงป่าไม้ เมืองหละปาง ก็ควรเป็นเช่นนั้นเช่นกัน


เมื่อปี 2445 เกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เมื่อเงี้ยวได้เมืองแพร่แล้วก็มีข่าวจะยกมาลำปาง ชาวฝรั่งในลำปางมีอยู่ไม่น้อยร่วมกับกรมการเมืองเจ้านายเมืองลำปางทั้งหลายเตรียมสู้ มีบันทึกไว้ แต่ที่สุดก็ตัดสินใจอพยพออกไปแล้วกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ยกมาจากกรุงเทพฯ ที่ตั้งกองทหารกรุงเทพฯ เป็นค่ายสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน ส่วนที่ทำการป่าไม้และอ.อ.ป.บริเวณที่เป็นบ้านนายหลุยส์ มันอยู่ริมแม่น้ำวัง เพราะสะดวกต่อการทำไม้ ชักลาก นับท่อน ไปจนถึงการคมนาคมคุมพื้นที่ต้นน้ำวังทั้งหมด แถมสามารถเชื่อมไปยังเมืองตากซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางคมนาคมสำคัญอีกต่างหาก


นครลำปางน่ะ มี่ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เหนือกว่าเชียงใหม่ด้วยซ้ำไปในแง่ของการคมนาคม เมื่อก่อนลำปางเป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางสำคัญหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นระดับเขตและภาคอยู่ที่ลำปางทั้งนั้น เช่นกองทหาร กองบัญชาการตำรวจภาค ธนาคารชาติ สถานีโทรทัศน์(ช่อง8ลำปาง) ฯลฯ แต่หลังจากนั้นเมื่อรัฐมีนโยบายกำหนดให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเดี่ยวของภาคเหนือตอนบน หน่วยงานที่ว่าก็ทยอยย้ายออกจากลำปางจนหมด คนรุ่นหลังแทบไม่รู้แล้วว่าลำปางน่ะเคยเป็นอะไรที่คึกคักและยิ่งใหญ่มาก่อน

อยากเห็นหน่วยงานรับผิดชอบคิดปรับปรุงบ้านโบราณ เฮือนป้อเลี้ยงหลุยส์ ทำไม้ขึ้นมาให้เกิดมีชีวิตชีวาเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกหลายแห่ง เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของท้องถิ่นเชื่อมโยงกับของดีๆ เมืองลำปางอีกหลายแห่ง ทั้งอาคารธนาคารไทยพาณิชย์เก่าแก่ที่เคยเป็นบ้านพักของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทั้งอาคารสถานีรถไฟที่วิจิตรบรรจง รวมไปถึงตลาดเก่าหมู่ห้องแถวทรงโบราณที่สะท้อนถึงชุมชนการค้ายุครุ่งเรืองของเมืองศูนย์กลางแห่งนี้



หลุยส์ ทอมัส กันนิส ลีโอโนเวนส์ (อังกฤษ: Louis Thomas Gunnis Leonowens; 25 ตุลาคม 1856 – 17 กุมภาพันธ์ 1919) นักธุรกิจชาวอังกฤษผู้เป็นบุตรชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ หรือ แหม่มแอนนา พระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทั้งสองเป็นตัวละครเอกในนวนิยายเรื่อง แอนนาและพระเจ้าแห่งกรุงสยาม ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1944

หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์เกิด25 ตุลาคม ค.ศ. 1856เสียชีวิต17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 (62 ปี 115 วัน)ลอนดอน

เดินทางมาสยามพร้อมมารดาเมื่ออายุ 7 ปี ในเวลาต่อมาหลุยส์ได้เข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ก่อนจะลาออกจากราชการมาเปิดบริษัทแลกเปลี่ยนสินค้าที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันคือ บริษัท หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ จำกัด

ใน ค.ศ. 1881 ขณะอายุได้ 25 ปี หลุยส์เดินทางกลับมายังสยามอีกครั้งหลังเดินทางออกจากสยามไปหลายปีโดยได้รับตำแหน่งกัปตันในกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาใน ค.ศ. 1884 เขาลาออกจากกองทัพและเริ่มต้นธุรกิจค้าไม้สักกระทั่ง ค.ศ. 1905 หลุยส์ได้ตั้งบริษัท หลุยส์ โทมัส ลีโอโนเวนส์ จำกัดขึ้นก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ จำกัด ในภายหลัง เป็นธุรกิจสัมปทานไม้สัก รับเป็นผู้แทนบริษัทผลิตซีเมนต์ นำเข้าแชมเปญ วิสกี้ เครื่องพิมพ์ดีด ผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรม และธุรกิจประกันภัย และได้เดินทางออกจากสยามเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. 1913 โดยมิได้เดินทางกลับมายังสยามอีกเลยจนสิ้นชีวิต

หลุยส์ โทมัส กันนิส ลีโอโนเวนส์แต่งงานทั้งหมด 2 ครั้งกับ

แคโรไลน์ น็อกซ์ (1856–1893) บุตรสาวคนเล็กของเซอร์โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำสยามผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1824 ถึง 1887 และภรรยา ปราง เย็น สตรีชั้นสูงชาวสยาม ทั้งคู่มีบุตรชาย 1 คนคือ โทมัส ("ยอร์ช") น็อกซ์ ลีโอโนเวนส์ (1888–1953) ซึ่งตั้งชื่อตามผู้เป็นตาและบุตรสาว 1 คนคือ แอนนา แฮร์เรียต ลีโอโนเวนส์ (1890–?) ซึ่งตั้งชื่อตามผู้เป็นย่ารีตาเมย์ (1880–1936) แต่งงานเมื่อ ค.ศ. 1900 ทั้งคู่ไม่มีบุตร–ธิดาด้วยกัน

หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษระหว่างเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไข้หวัดใหญ่สเปน โดยศพของเขาถูกฝังเคียงข้างกับภรรยาคนที่สองที่สุสานบรอมพ์ตันในกรุงลอนดอน

Cr.วิกิพีเดีย